อังกฤษตกชั้นแนวหน้าเศรษฐกิจโลก
“ตลาดหุ้นอังกฤษลดบทบาทความสำคัญลงในเวทีโลก ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนต่อมูลค่าหุ้นในตลาดหุ้นโลกลดลงเหลือ 3% จาก 8% สำหรับตลาดหุ้นอิตาลี ไม่เคยยิ่งใหญ่เท่าอังกฤษอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับมูลค่าหุ้นของตลาดหุ้นโลก แต่ปรากฏว่าความสำคัญของตลาดหุ้นอังกฤษ ได้ชะลอตัวลง ในอัตราเดียวกับอิตาลี”
ชาวเมืองผู้ดีคงรู้สึกห่อเหี่ยวยังไงพิกล แค่ไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ดินแดนแห่งพระอาทิตย์ไม่เคยตก ซึ่งใช้เปรียบเปรยถึงชาติอังกฤษที่ยิ่งใหญ่ เคยมีอาณานิคมแผ่ไปทั่วทุกมุมโลก กลับต้องเจอความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เมื่อประเทศต้องสูญเสียสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 ซึ่งทรงครองราชย์ยาวนานที่สุดถึง 70 ปี อีกทั้ง นายกรัฐมนตรีหญิง Liz Truss ที่ได้เข้าเฝ้าล่าสุด กลับกลายเป็นผู้นำรัฐบาลที่ครองทำเนียบ 10 Downing Street สั้นที่สุดในแวดวงการเมืองผู้ดี และปูทางให้นาย Rishi Sunak ได้สร้างประวัติศาสตร์การเมืองอังกฤษ กลายเป็นนายกรัฐมนตรีที่มีเชื้อสายอินเดียคนแรก แถมยังหนุ่มแน่นอายุ 42 ปี ถือว่าเป็นผู้นำอังกฤษอายุน้อยสุด รวมถึงอายุการไต่เต้าทางการเมืองมาสู่เก้าอี้ผู้นำชาติที่เคยเป็นเมืองแม่ใช้เวลาเพียงแค่ 7 ปีเท่านั้น และที่น่าอิจฉาก็คือ Sunak เป็นนายกฯที่ร่ำรวย เท่าที่อังกฤษเคยมีมา โดยเฉพาะภรรยาเป็นถึงลูกสาวเจ้าพ่อไฮเทคอินเดีย Infosys
ชาวอังกฤษรู้สึกยินดียินร้ายยังไง คงเดายาก เพราะปัญหาปากท้องค่าครองชีพกำลังพังประเทศ และรอการแก้ไขอย่างเร่งด่วน จึงไม่มีเวลามานั่งเป็นกบเลือกนาย อีกทั้ง นายกฯ Sunak ก็คงไม่ยอมเสียเวลากับพวกดราม่าการเมือง เนื่องจากอังกฤษกำลังเผชิญวิกฤตสาหัสทุกด้าน
ใครจะนึกว่าวันนี้ อังกฤษ ซึ่งเคยภูมิใจว่าตนเอง เป็นประเทศเศรษฐกิจชั้นแนวหน้าของโลก ยืนเคียงบ่าเคียงไหล่กับสหรัฐอเมริกา เยอรมนี และ ฝรั่งเศส แต่จู่ๆ นักเศรษฐศาสตร์หลายสำนัก เริ่มเขย่าการจัดหมวดหมู่ประเทศเศรษฐกิจชั้นนำใหม่ โดยมองว่า อังกฤษน่าจะอยู่ในแก๊งเดียวกับอิตาลีมากกว่า มองผิวเผินก็ไม่เห็นเสียหายอะไร อิตาลีก็ยังถือว่าเป็นชาติอุตสาหกรรมชั้นนำอยู่ดี เพียงแต่จมอยู่กับปัญหาเรื้อรังที่แก้ไม่ตกสักที เช่น การเติบโตทางเศรษฐกิจต่ำ ประสิทธิภาพการผลิตย่ำแย่ ความเหลื่อมล้ำในประเทศสูง หนี้สาธารณะมากมาย เป็นต้น
การถูกเปรียบเทียบกับเมืองมักกะโรนี คงไม่เสียหาย แต่เสียหน้าไม่น้อย เพราะอิตาลี มักจะโดนประเทศเพื่อนบ้านยุโรป มองว่าเป็นชนวนระเบิดที่เสี่ยงสร้างหายนะทางเศรษฐกิจให้แก่กลุ่มประเทศเพื่อนบ้านและเศรษฐกิจโลก อีกทั้ง เมื่อ 10 ปีก่อน พรรคอนุรักษนิยมอังกฤษเคยมีเอกสารแผ่นพับ เผยแพร่ปลุกใจนักการเมืองและประชาชน ให้พร้อมใจกันผลักดันเศรษฐกิจประเทศเติบโตก้าวหน้า อย่าตกหล่มเหมือนอิตาลีเด็ดขาด อย่างไรก็ตาม แค่เพียงทศวรรษเดียว รัฐบาลพรรคอนุรักษนิยมที่กุมบังเหียนอังกฤษมาตลอด กลับลืมเลือนข้อความเหล่านั้น แถมยังพาดินแดนลุ่มน้ำเทมส์เจริญรอยตามเมืองพิซซ่าใกล้มากขึ้นเรื่อยๆ
ข้อสังเกตแรก ที่กูรูเฝ้ามองมาสักระยะหนึ่ง พบว่า เศรษฐกิจอังกฤษไม่ค่อยกระฉับกระเฉง เฉกเช่นประเทศอุตสาหกรรมแนวหน้าทั้งหลาย แต่กลับเชื่องช้าลง ด้วยการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ลุ่มๆ ดอนๆ ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จนกระทั่งวันนี้ อังกฤษก็เป็นชาติเดียวในกลุ่ม G7 ที่สภาพเศรษฐกิจอ่อนล้า สมรรถนะต่ำกว่าระดับที่เคยเป็นก่อนโควิด-19
ปัญหาพื้นฐานที่ทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจแผ่วลง น่าจะเป็นผลมาจากการลงทุนภายในประเทศชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งประสิทธิภาพการผลิตก็เสื่อมถอย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่อิตาลีได้เผชิญมาก่อนหน้านับสิบปี จนเมืองมะกะโรนีกลายเป็นบทเรียนที่ IMF ใช้เฝ้าเตือนประเทศอุตสาหกรรมต่างๆ ควรหลีกเลี่ยงปัญหาพื้นฐานเหล่านั้น
ถ้าวัดมาตรฐานการครองชีพของอิตาลี ด้วยผลผลิตมวลรวมภายในประเทศแท้จริงเบื้องต้นต่อคน จะพบว่า มาตรฐานการครองชีพของอิตาลีแทบไม่เพิ่มขึ้นเลย นับตั้งแต่ปี 2000 เนื่องจากปัญหาโครงสร้างประชากร ที่มีสัดส่วนคนแก่ต่อคนวัยทำงาน 100 คน สูงกว่าประเทศเศรษฐกิจแนวหน้าอย่างสหรัฐฯ แถม หน่วยงานภาครัฐทำงานงุ่มง่าม และกฎระเบียบต่างๆ ก็ซับซ้อนมากมาย จนทำให้เศรษฐกิจเดินหน้ายาก โดยเฉพาะโครงสร้างเศรษฐกิจที่มี SMEs และธุรกิจครอบครัวจำนวนมาก เจอปัญหาภาครัฐและระบบมาเฟีย กลายเป็นตัวฉุดกระชากลากเศรษฐกิจและธุรกิจเมืองพิซซ่ากะปลกกะเปลี้ยมาโดยตลอด
สำหรับอังกฤษ สถานการณ์ตอนนี้ยังไม่ถึงขั้นหนักหนาสาหัส เพราะมาตรฐานการครองชีพที่วัดโดย GDP ต่อหัว ยังเพิ่มขึ้นบ้าง เนื่องจากโครงสร้างประชากรอังกฤษยังมีคนแก่ต่อคนวัยทำงาน 100 คน ต่ำกว่าอิตาลี แต่ถึงยังไง ลางร้ายก็เริ่มปรากฏให้เห็นบ้างแล้ว นับตั้งแต่กลางทศวรรษ 2000 มาตรฐานการครองชีพของอังกฤษชะลอตัวลงเรื่อยๆ ไล่ตามหลังสหรัฐฯและเยอรมนีหลายช่วงตัว อีกทั้งข้อมูลทางเศรษฐกิจหลายรายการ บ่งชี้ว่า การลงทุนและประสิทธิภาพของอังกฤษ อยู่ในระดับต่ำเกือบใกล้เคียงกับอิตาลี เช่น สัดส่วนการลงทุนต่อ GDP ในปี 2019 อยู่ในระดับราว 18% ขณะที่สหรัฐฯ เยอรมนี และ ฝรั่งเศส มีสัดส่วนดังกล่าวอยู่ในช่วง 21-23% สถานการณ์เหล่านี้ ย่อมส่งผลให้มาตรฐานการครองชีพในระยะยาวของอังกฤษถดถอยลง
ส่วนปัญหาพื้นฐานทางเศรษฐกิจอีกเรื่องหนึ่ง ที่อิตาลีและอังกฤษ กำลังจะกลายเป็นฝาแฝดก็คือ ความเหลื่อมล้ำในประเทศค่อนข้างชัดเจน จะเห็นว่าอิตาลีตอนเหนือ จะประกอบด้วยพวกอุตสาหกรรมสำคัญๆ สร้างเม็ดเงินฟู่ฟ่ามหาศาล แตกต่างจากพื้นที่ตอนใต้ของประเทศอย่างมาก ข้อมูลในปี 2019 ชี้ว่า ทางตอนใต้มีรายได้ต่อหัว เพียงครึ่งหนึ่งของพื้นที่ทางตอนเหนือของประเทศ ขณะที่อังกฤษ ก็ปรากฏข้อมูลที่ระบุว่า ค่าจ้างแรงงานในนครลอนดอน สูงกว่าค่าจ้างเฉลี่ยในภูมิภาคอื่นของประเทศกว่า 50-70% อีกทั้งจากการศึกษาของมหาวิทยาลัยชั้นนำอังกฤษ University of Sheffield พบว่า ในบรรดาประเทศสมาชิก OECD จำนวน 28 ประเทศ จากทั้งหมด 30 ประเทศ สรุปได้ว่า อังกฤษ เป็นประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจระหว่างพื้นที่มากที่สุด โดยมีอิตาลี ตามมาติดๆ เป็นอันดับ 2
ข้อสังเกตที่ 2 ที่กูรูเห็นว่า เมืองผู้ดีชักจะเหมือนอิตาลีมากขึ้นเรื่อยๆ ก็คือ ความไร้เสถียรภาพของรัฐบาล เป็นที่รู้ๆ กันมานานแล้วว่า เมืองมะกะโรนี ขี้เบื่อ เปลี่ยนรัฐบาลเป็นว่าเล่น จนคนอิตาเลียนแทบจะจำไม่ได้ว่าใครหรือพรรคอะไร กำลังบริหารประเทศ เหตุการณ์พวกนี้ เกิดขึ้นในแผ่นดินโรม จนกลายเป็นเรื่องธรรมดา และน่าจะเป็นปัจจัยลบที่ส่งผลให้เศรษฐกิจอิตาลีไม่โดดเด่นเท่าที่ควร เมื่อเทียบกับสมาชิก G7
ในอดีต อังกฤษแทบจะไม่มีปัญหาเรื่องเสถียรภาพของรัฐบาลสักเท่าไหร่ ถึงเวลาก็ปรับเปลี่ยนกันไปตามวาระการเลือกตั้ง พรรคการเมืองสำคัญจริงๆมี 2 พรรคคือ พรรคอนุรักษนิยม ที่กำลังเป็นรัฐบาลตอนนี้ และ พรรคแรงงาน ที่เป็นฝ่ายค้าน แต่น่าประหลาดใจที่วันนี้ อังกฤษ มีปัญหาด้านผู้นำประเทศชัดเจน แค่ปี 2022 เมืองผู้ดี เปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี 3 คน และตั้งแต่ปี 2015 มีผู้นำประเทศไปแล้ว 5 คน รวมถึงคนปัจจุบันคือ Rashi Sunak และล้วนมาจากพรรคอนุรักษนิยมทั้งสิ้น
ว่ากันว่า รัฐบาลอังกฤษที่ง่อนแง่นในช่วงที่ผ่านมา มีส่วนทำให้เศรษฐกิจไม่งอกเงยอย่างที่ควรจะเป็น ทำให้เสียเวลาและโอกาสไปมากมาย นักเศรษฐศาสตร์บางคน โยนความผิดไปที่การตัดสินใจของอังกฤษที่แยกตัวออกจากอียู หรือ Brexit ในปี 2016 ได้กลายเป็นต้นเหตุที่ทำให้อังกฤษ ต้องเจอความชุลมุนวุ่นวายทั้งการเมืองและเศรษฐกิจจนทุกวันนี้
ข้อสังเกตที่ 3 ที่สะท้อนว่าอังกฤษ มีสภาพใกล้เคียงกับอิตาลีก็คือ การที่ตลาดพันธบัตรและตลาดเงิน ขาดความไว้วางใจจากนักลงทุนอย่างง่ายดาย แตกต่างจากอดีต ที่อังกฤษมีเสถียรภาพทางการเงิน การธนาคาร ตลาดทุน ตลาดตราตราสารหนี้ และตลาดอื่นๆ จนถือกันว่า อังกฤษเป็นศูนย์กลางการเงินเก่าแก่ที่น่าเชื่อถือแห่งหนึ่งของโลก
แต่วันนี้ ความเป็นผู้นำทางการเงิน เริ่มเสื่อมคลายลงเมื่อเทียบกับอดีต ตลาดหลักทรัพย์อังกฤษ ไม่ค่อยมีบริษัทรุ่นใหม่ๆ เข้ามาซื้อขายกันมากนัก แตกต่างจากตลาดหุ้นสหรัฐฯหรือจีน ซึ่งบริษัทส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพเติบโตสูง สถานการณ์ดังกล่าวมีส่วนทำให้ตลาดหุ้นอังกฤษลดบทบาทความสำคัญลงในเวทีโลก ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา สัดส่วนต่อมูลค่าหุ้นในตลาดหุ้นโลกลดลงเหลือ 3% จาก 8% สำหรับตลาดหุ้นอิตาลี ไม่เคยยิ่งใหญ่เท่าอังกฤษอยู่แล้ว เมื่อเทียบกับมูลค่าหุ้นของตลาดหุ้นโลก แต่ปรากฏว่า ความสำคัญของตลาดหุ้นอังกฤษ ได้ชะลอตัวลง ในอัตราเดียวกับอิตาลี
หากพิจารณาเรื่องตลาดพันธบัตรรัฐบาล จะพบว่า อังกฤษแทบไม่เคยมีเรื่องกวนใจหรือตื่นตระหนกกับประเด็นเหล่านี้ แตกต่างจากอิตาลี ที่ปวดหัวกับเรื่องพันธบัตรรัฐบาลเป็นประจำ จนเพื่อนสมาชิกยูโร โดยเฉพาะธนาคารกลางยุโรป (European Central Bank : ECB) ต้องคอยจับตามองอิตาลีเป็นพิเศษ เพราะหากรัฐบาลมะกะโรนี บริหารงานเศรษฐกิจผิดเพี้ยนเมื่อใด จะส่งผลกระทบต่อตลาดพันธบัตรรัฐบาลอิตาลีมหาศาล จนสามารถนำไปสู่ความโกลาหลใหญ่หลวงของกลุ่มยูโร เฉกเช่น วิกฤติยูโร เมื่อปี 2011-12 ที่กลุ่มยูโรหวิดล่มสลายพร้อมๆ กับสกุลเงินยูโร โชคดีที่ผู้ว่าการ ECB ในขณะนั้น นาย Mario Draghi สวมบทฮีโร่ สามารถเรียกความเชื่อมั่นกลับสู่ตลาดเงินและตลาดพันธบัตรได้สำเร็จ
น่าเสียดายที่อังกฤษในยามนี้ ทำร้ายตัวเองให้นักลงทุนหวาดระแวงไม่ไว้วางใจ ทั้งๆ ที่สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP อยู่ในอัตราราว 85% ของ GDP เทียบกับอิตาลี ที่มีสัดส่วนเกือบ 140% ของ GDP ซึ่งสามารถสร้างความอ่อนไหวให้กับราคาและผลตอบแทนในตลาดพันธบัตรอิตาลีได้ง่ายดายกว่าตลาดพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษ
แต่ปรากฏว่า รัฐบาลอังกฤษชุดนาง Liz Truss กลับทำลายความเชื่อมั่นในระบบการเงิน ตลาดหุ้น และตลาดหนี้ ของประเทศแทบไม่เหลือหลอ หลังจากรับตำแหน่งผู้นำในวันที่ 6 กันยายน 2022 รัฐบาลของนาง ได้ปล่อยให้ขุนคลัง นาย Kwasi Kwarteng รีบๆ เสนองบประมาณฉบับย่อในวันที่ 23 กันยายน เพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจเร่งด่วน ผลลัพธ์ที่ไม่คาดฝันได้อุบัติขึ้นทันที ตลาดพันธบัตรรัฐบาลอังกฤษปั่นป่วน มีการเทขายระเนระนาด ราคาพันธบัตรรัฐบาลดิ่งลงเหว อัตราผลตอบแทนพันธบัตรทุกรุ่นพุ่งสูงลิ่ว เงินปอนด์อังกฤษสั่นสะเทือน จนค่าเงินตกต่ำเกือบเทียบเท่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ อัตราดอกเบี้ยต่างๆ ที่อ้างอิงอัตราผลตอบแทนพันธบัตรระยะยาว เช่น อัตราดอกเบี้ยจำนองที่อยู่อาศัย ก็แห่กันทะยานขึ้นตามไปหมด
ก่อนความวินาศจะมาเยือน ธนาคารกลางอังกฤษ (Bank of England) ต้องออกโรงเข้าแทรกแซงตลาดพันธบัตรอย่างเต็มที่ ทั้งๆ ที่รู้สึกฉุนรัฐบาลนาง Truss ก็ตาม สาเหตุที่ทำให้นักลงทุนไม่ไว้ใจตลาดพันธบัตรอังกฤษ และเทขายกันถล่มทลาย ก็เพราะงบประมาณฉบับย่อ มียอดขาดดุลมหาศาลที่สุดในรอบครึ่งศตวรรษของอังกฤษ
นาง Truss กับขุนคลัง เล่นลดแลกแจกแถม เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น ลดภาษีสนั่น แจกเงินอุดหนุนไปทั่ว แต่ไม่ระบุว่า เงินรายได้ที่จะนำมาใช้ว่าจะหามาจากไหนบ้าง พวกนักลงทุนตัดสินว่ารัฐบาลคงกู้ยืมบานเบอะแน่ๆ แถม ยังก่อให้เกิดเงินเฟ้อกระฉูดอีกต่างหาก ทั้งๆ ที่แบงก์ชาติพยายามเหยียบเบรกด้านเงินเฟ้อ แต่ขุนคลังกลับโปรยเงินสู่ระบบเศรษฐกิจอย่างไม่อั้น
อีกทั้ง ท่าทีการบริหารงานเศรษฐกิจของรัฐบาล Truss ก็สร้างความอึดอัดไม่สบายใจให้แก่นักลงทุนไม่น้อย เนื่องจากนาง Truss ที่มาจากนักการเมือง ไม่ศรัทธาการทำงานของหน่วยงานรัฐบางหน่วย โดยเฉพาะกระทรวงการคลัง ทำให้รัฐมนตรีคลังของนาง เข้าไปวุ่นวายกับปรับเปลี่ยนตำแหน่งข้าราชการไปหมด รวมถึงงบประมาณฉบับหายนะ ก็ไม่ผ่านหน่วยงานที่ต้องตรวจสอบอีกด้วย แม้แต่ธนาคารกลางอังกฤษที่เป็นหน่วยงานอิสระ ก็ยังโดนนาง Truss เคยขู่ช่วงหาเสียงว่า อาจต้องทบทวนบทบาทแบงก์ชาติเหมือนกัน
ในที่สุด รัฐบาลนาง Truss ก็จำเป็นต้องม้วนเสื่อ เมื่อประชาชนและนักลงทุนขาดศรัทธาการบริหารประเทศของนาง โบกมืออำลาด้วยระยะเวลาการทำงานแค่ 45 วัน แต่สามารถสร้างภาพลักษณ์ให้อังกฤษเหมือนอิตาลีในแง่ความอ่อนไหวต่อนักลงทุนในตลาดพันธบัตรอย่างไม่น่าเชื่อ
นายกรัฐมนตรี Rashi Sunak รับรู้อยู่เต็มอกว่า ตนได้รับเผือกร้อนจากรัฐบาลนาง Truss งานสำคัญสุดที่ต้องแก้ไขโดยเร็ว ก็คือ การฟื้นฟูเศรษฐกิจ ด้วยมาตรการที่เหมาะสม เพื่อซื้อความไว้วางใจของนักลงทุนให้กลับคืนมา เศรษฐกิจอังกฤษยังต้องพึ่งพาเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ เนื่องจากคาดว่าประเทศจะมียอดขาดดุลบัญชีเดินสะพัดเกือบ 5% ของ GDP เมื่อสิ้นสุดปีนี้ เพราะฉะนั้น อังกฤษต้องสร้างแรงจูงใจให้แก่นักลงทุนอย่างถูกต้อง โดยเฉพาะเรื่องภาษี อีกทั้ง ความพยายามที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยมาตรการการคลัง ก็ต้องไม่ขัดกับนโยบายการเงินของแบงก์ชาติอย่างสุดโต่ง เหมือนอดีตรัฐบาล Truss
ในสายตาเซียนต่างประเทศ รวมถึงสายมู มองว่า นายกฯ Sunak น่าจะพาอังกฤษออกจากความวุ่นวายทางเศรษฐกิจและการเมืองได้สำเร็จ ส่วนหนึ่ง มาจากสายเลือดอินเดีย ที่สะท้อนว่าเป็นกลุ่มบุคคลที่มีความเฉลียวฉลาดสามารถบริหารงานในระดับสูงได้เป็นอย่างดี มีตัวอย่างให้เห็นหลายคนในสหรัฐฯ ที่บรรดา CEOs ของบริษัทไฮเทคชั้นนำ เป็นผู้บริหารเชื้อสายอินเดียกันเป็นแถว
นอกจากนี้ นาย Sunak ซึ่งนับถือศาสนาฮินดู ได้ถือฤกษ์เข้าทำเนียบ 10 Downing Street ครั้งแรกในวันเทศกาลสำคัญ Diwali ถือว่าเป็นวันมงคล นำมาซึ่งแสงสว่าง สติปัญญา และ ความเจริญมั่งคั่งรุ่งเรือง ให้แก่ตนเองและงานบริหารประเทศ เผื่อจะได้พาอังกฤษกลับสู่กลุ่มชาติแนวหน้าเศรษฐกิจโลกได้อีกครั้ง
แต่สำหรับอิตาลี คงไม่ค่อยแคร์ว่าใครจะมองว่าเมืองมักกะโรนีเป็นยังไง วันนี้ อิตาลีก็มีนายกรัฐมนตรีหญิงคนแรก นาง Giorgia Meloni พลิกหน้าประวัติศาสตร์การเมืองอิตาลีเหมือนกัน อายุเพียง 45 ปี และ เข้ารับตำแหน่งในระยะเวลาใกล้เคียงกับนายกฯ Sunak โดยทั้งคู่ต่างมีประสบการณ์ทางการเมืองพอๆ กัน แต่เรื่องฝีไม้ลายมือการบริหารบ้านเมืองว่าใครเหนือกว่า เพื่อให้รัฐบาลของตนมีเสถียรภาพและเศรษฐกิจเดินหน้ามั่นคง ต้องรอเวลาพิสูจน์เท่านั้น!!